เกี่ยวกับ ศศค.

ประวัติความเป็นมา

ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกได้ก่อตั้งขึ้นสืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแพทย์และกระจายแพทย์ที่ไม่สมดุลระหว่างสัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ ประกอบกับความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของสถานบริการทางการแพทย์ภาคเอกชน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแพทย์อย่างมาก

ในปี พ.ศ.2538 ได้มีการศึกษาข้อมูลและประมาณการความต้องการแพทย์ พบว่าหากสถานการณ์ในการผลิตและการกระจายแพทย์ยังคงเป็นเช่นเดิม คาดว่าจะขาดแคลนแพทย์ระหว่าง 3,872–8,173 คน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีสถาบันการผลิตแพทย์ทั้งหมด 13 แห่ง ผลิตแพทย์ได้ปีละ 900 คน (ต่อมาเพิ่มเป็น 1,200 คน) ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ดังนั้นในปี พ.ศ.2538 โรงพยาบาลขอนแก่น จึงได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการสอนและฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิกร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทเป็นแห่งแรก โดยมี แพทย์หญิงศิริจิตต์ วาสนะวัฒน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลขอนแก่น โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (THE COLLABORATIVE PROJECT TO INCREASE PRODUCTION OF RURAL DOCTORS: CPIRD) หรือเรียกว่า “ซีเพิร์ด” เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาในสาขาแพทย์ สำหรับนักเรียนในชนบท ซึ่งโรงพยาบาลขอนแก่น เริ่มรับนักศึกษาแพทย์ในปี พ.ศ. 2538 ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการผลิตแพทย์เพิ่มเติมในโครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน-ONE DOCTOR ONE DISTRICT: ODOD” หรือที่เรียกว่า “โอด็อต” โดยทั้งสองโครงการจะดำเนินการคัดเลือกนักเรียนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าศึกษาภาคทฤษฎี และห้องปฏิบัติการ (LABORATORY) ชั้นปีที่ 1-3 ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และชั้นปีที่ 4-6 ศึกษาและฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสกับสภาพปัญหาสาธารณสุขของภูมิภาค รวมทั้งเข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวบ้าน อันจะก่อให้เกิดเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานในชนบท ทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์ให้แพทย์ได้ปฏิบัติงานในภูมิลำเนาของตนเอง และคาดหวังว่าจะปฏิบัติงานในภูมิลำเนาของตนเองได้ยาวนานและมีความสุข ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในภาพรวมและลดปัญหาการกระจายแพทย์ที่ไม่เหมาะสมในชนบท

วันที่ก่อตั้ง

เริ่มก่อตั้ง เมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ.2538 คู่ความร่วมมือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปณิธาน

คุณธรรม คุณภาพ เพื่อแผ่นดินเกิด

วิสัยทัศน์

ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ชั้นนำในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทอย่างยั่งยืน

พันธกิจ

  1. ผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์แพทยสภา และมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์
  2. สนับสนุนและพัฒนางานวิจัยทางแพทยศาสตรศึกษาและทางคลินิก
  3. บริการความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด้าน
    – แพทยศาสตรศึกษา
    – วิชาการทางคลินิก
    – วิจัยทางแพทยศาสตรศึกษาและทางคลินิก
  4. ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

อัตลักษณ์แพทย์ชนบท โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท (CPIRD DNA)

  • Community bonded มีความผูกพันกับชุมชน เป็นแพทย์ของชุมชน เพื่อชุมชน
  • Passion to learn มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ และปฏิบัติงานให้ดีขึ้น
  • Integrity มีความซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ มีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
  • Responsibility มีความรับผิดชอบต่อคนไข้ ชุมชน บ้านเกิดและประเทศชาติ
  • Dignity มีความภูมิใจในการเป็นแพทย์เพื่อแผ่นดิน เจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระราชบิดา