วิสัยทัศน์/พันธกิจ

วิวัฒนาการศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด

๒๕๓๐ – ๒๕๓๔

          โรงพยาบาลขอนแก่นต้องรับภาระต่อการผ่าตัดรักษา ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะจากการประสบอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก  ในขณะเดียวกันยังไม่มีประสาทศัลยแพทย์        ศัลยแพทย์ทั่วไปต้องรับผิดชอบผ่าตัดแทน      ซึ่งผลสำเร็จของการรักษาผู้ป่วยตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า

  • ความเร็วของยานพาหนะมีผลต่อระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุจราจร
  • สาเหตุนำที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แตกต่างกันไป เช่น  เมา ง่วง  พาหนะไม่สมบูรณ์ สภาพพื้นผิวถนน   ความมืด ความสว่าง  สิ่งแวดล้อม  สิ่งกีดขวาง    
  • การไม่ป้องกันตนเอง มีผลต่อการบาดเจ็บ
  • การช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ  โดยผู้มีความรู้ ความชำนาญทางการแพทย์
  • ระยะเวลาของผู้ป่วยที่ได้พบแพทย์
  • การรักษาขั้นต้นของแพทย์คนแรก     
  • การนำส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ หากเกินความสามารถต้องได้รับการดูแลระหว่างทางเป็นอย่างดี
  • วิธีการนำส่งและระยะเวลาเดินทางเมื่อไปถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

๒๕๓๔ 

ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อเท็จจริงตามสมมุติฐาน โดยทำการวิจัยร่วมกับกองระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ด้วยการใช้ Program Injury Surveillance ที่กองระบาดวิทยาพัฒนาขึ้น

  • ผลที่ได้จากการศึกษาวิจัย พบว่าสมมุติฐานที่ตั้งไว้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง มีการจัดพิมพ์รายงาน และจัดทำรายงานประจำปี  Injury Surveillance ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ไปสู่โรงพยาบาลทุกระดับ

๒๕๓๕

ได้ทดลองจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัย โดยเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อดำเนินการจัดตั้งระบบการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร  พื้นที่ทดลองบริการในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยมีการประชุมเพื่อหารูปแบบการให้บริการ คุณสมบัติของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน วิธีการปฏิบัติงาน ทรัพยากรสนับสนุนการปฏิบัติงานล้วนใช้ทรัพยากรตามสถานภาพที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น โดยคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจ  สังคม และการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่ร่วมด้วย 


๒๕๓๖

ได้จัดตั้ง “หน่วยกู้ชีพ” ขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดขอนแก่น และเป็นแห่งแรกในส่วนภูมิภาค ณ มูลนิธิจิตกุศลขอนแก่น โดยมีนายเชาวน์วัศน์  สุดลาภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด วัตถุประสงค์ต้องการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรในเขตเทศบาลนครขอนแก่นเป็นหลัก และให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้เอง โดยมีสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นเป็นศูนย์สั่งการช่วยเหลือในเบื้องต้น  หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้บริการผู้ป่วยคือ ๑๙๑


๒๕๓๗

จัดตั้ง “หน่วยกู้ชีพ” ขึ้นเป็นแห่งที่สอง สถานที่ปฏิบัติงาน คือ ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น โดยมี ศ.ดร.นพ.วิทุร แสงสิง-แก้ว อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิด 


๒๕๓๘

โรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งภาคเอกชนของจังหวัดขอนแก่น ได้เห็นความสำคัญของการมี “หน่วยกู้ชีพ” จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “หน่วยกู้ชีพ” ขึ้นในหน่วยงานของตน  เพื่อให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรในพื้นที่บริการทางการแพทย์ แต่ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมากนัก เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัด โดยมีโรงพยาบาลขอนแก่นเป็นแม่ข่าย ในการรับแจ้งเหตุผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ ๐๔๓ – ๒๓๗๑๓๗  และมีสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นเป็นแม่ข่ายร่วม         ใช้หมายเลขโทรศัพท์ ๑๙๑ เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุทางการแพทย์ฉุกเฉินด้วยแม่ข่าย /แม่ข่ายร่วม  เมื่อได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินจะแจ้งให้หน่วยกู้ชีพในเขตพื้นที่เกิดเหตุออกให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจราจร      ผลผู้ป่วยที่หน่วยกู้ชีพไปรับสามารถได้พบแพทย์คนแรกเร็วขึ้น

          ผู้บริหารของโรงพยาบาลต่างๆ ที่จัดตั้ง“หน่วยกู้ชีพ”ได้เห็นความสำคัญของการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินนี้  จึงได้จัดผู้ที่ผ่านอบรม / ฝึกปฏิบัติการช่วยชีวิต-รักษาพยาบาลเบื้องต้น (เทียบได้กับหลักสูตร First Responder ในปัจจุบัน) เป็นผู้ออกให้บริการ    จุดเกิดเหตุ เพื่อให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น พร้อมนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรบางรายที่มีความรุนแรงมากต้องให้แพทย์ / พยาบาลออกปฏิบัติงาน ร่วมด้วย ผลการปฏิบัติงานทำให้มีการนำส่งผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจราจรจากที่ไม่เคยมีการนำส่งด้วย หน่วยกู้ชีพ มาเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจราจรที่ถูกนำส่งด้วยหน่วยกู้ชีพ ประมาณ   ร้อยละ ๕ ของผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรทั้งหมดที่มารับการรักษาพยาบาลที่ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน  ผู้ป่วยจึงได้รับการรักษาพยาบาลได้ดีและรวดเร็วขึ้น


๒๕๓๙

ประเมินผลการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจร  พบว่าผู้ป่วยรุนแรงบางรายจำเป็นต้องให้แพทย์  พยาบาล ออกให้การช่วยเหลือ  ณ จุดเกิดเหตุ  ในขณะเดียวกันแพทย์  พยาบาล ที่ประจำห้องฉุกเฉินมีจำนวนจำกัด  คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เห็นปัญหาดังกล่าวจึงมอบหมายให้ทีมโรงพยาบาลขอนแก่นและวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น จัดทำโครงการนำร่องสร้างหลักสูตร “ประกาศนียบัตรสาธารณศาสตร์ (กู้ชีพ) ระยะเวลาศึกษา ๒ ปี” เพื่อผลิตเจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ให้มาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในการปฏิบัติงานระบบบริการผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ ได้เริ่มผลิตเจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ รุ่นที่ ๑ จำนวน ๑๗ คน หลังได้รับการอนุมัติหลักสูตรจากสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๑


๒๕๓๙

จัดทำโครงการ “ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน” โดยเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข       (นายเสนาะ  เทียนทอง) เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๓๙  ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการในปีเดียวกัน แต่ช่วงนั้นเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในขั้นวิกฤต รัฐบาลจึงได้อนุมัติเงินประมาณดำเนินการ จำนวน ๒๔๙.๕  ล้านบาท  ในปีงบประมาณ  ๒๕๔๒ และได้เริ่มทำการก่อสร้างในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๒ เสร็จสิ้นวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ และเริ่มเปิดศูนย์อุบัติเหตุอย่างเป็นทางการในวันที่   ๒๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๔๔ 


๒๕๔๐

ทบทวนความรู้  เรื่อง การป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุจราจร ตลอดระยะ ๖ ปีที่ผ่านมา เห็นว่าองค์ความรู้ที่ได้จากเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันมีจำนวนมากพอ ที่ถ่ายทอดให้ผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจาก    หน่วยงานหลัก อันประกอบด้วย  คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติงานในส่วนกลาง และหน่วยงานในส่วนภูมิภาคที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคเอกชน (สถาบันวิจัยแห่งประเทศไทย, สถาบันวิจัยสาธารณสุขไทย และสื่อมวลชน) จึงได้ร่วมกันจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๑ ซึ่งได้เรียนเชิญและได้รับการตอบรับจากนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) มอบนโยบาย เพื่อให้ดำเนินงานต่อไป พร้อมทั้งรับข้อเสนอแนวนโยบายภาครัฐจากที่ประชุมไปพิจารณาต่อไป


๒๕๔๑

นพ.วิทยา   ชาติบัญชาชัย  และ นพ.วีระพันธ์   สุพรรณไชยมาตย์  พร้อมทั้งสถาปนิกจากกองวิศวกรรมทางการแพทย์  ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น  เพื่อศึกษา – หารูปแบบ อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ของโรงเรียนแพทย์ / โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ที่เหมาะสมที่จะมาเป็นต้นแบบให้อาคารอุบัติเหตุ ของโรงพยาบาลขอนแก่น โดยการประสานงานของรัฐบาลญี่ปุ่น (JICA)    


๒๕๔๒

ได้ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย ภายใต้โครงการ “The Project for Development of Trauma Center Complex” โดยเสนอผ่านกรมวิเทศสหการ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาความเหมาะสมของโครงการตามลำดับความสำคัญก่อน – หลัง และรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จำนวน ๓ คณะ โดยพิจารณาถึง

  • การให้ความสำคัญของโครงการ  โดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข
  • การสนับสนุนโครงการ โดยผู้บริหารในพื้นที่  (ผู้อำนวยการโรงพยาบาล  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  และผู้ว่าราชการจังหวัด)
  • การให้ความเชื่อมั่นต่อผู้รับผิดชอบโครงการในฐานะผู้บริหารโครงการทั้งหมด  คือ                     นพ.วิทยา  ชาติบัญชาชัย
  • ผลที่ได้จากการสนับสนุนโครงการ 
    • ประชาชนได้อะไรโดยตรง
    • รูปแบบการพัฒนาระบบบริหาร และระบบบริการ ในศูนย์อุบัติเหตุ
    • การเป็นต้นแบบของการพัฒนา และขยายเป็นสถาบันการสอนในส่วนภูมิภาค

๒๕๔๓

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ศึกษาความพร้อมและผลที่จะได้ จากการโครงการแนวโน้มของความสำเร็จและประโยชน์สูงสุดในระดับภูมิภาค  จึงตอบรับเพื่อให้การสนับสนุนโครงการ “The Project for Development of Trauma Center Complex” โดยการบริหารจัดการของ นพ.วิทยา  ชาติบัญชาชัย  และมีการลงนามใน บันทึกความร่วมมือระหว่างประเทศ (MOU) ที่ห้องประชุม อุทัย สุขสุด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วันที่  ๑๒  เมษายน ๒๕๔๓  โดยมีผลในทันทีและกำหนดสิ้นสุดโครงการ พร้อมทั้งประเมินผลในวันที่  ๓๐  มิถุนายน  ๒๕๔๘  รูปแบบการพัฒนาโครงการประกอบด้วย

  • การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ด้าน Emergency มาถ่ายทอดความรู้ ความสามารถให้บุคลากรทาง   การแพทย์ของโรงพยาบาลขอนแก่น
  • การบริหารจัดการในสถานการณ์ภัยพิบัติ / อุบัติเหตุกลุ่มชน และการติดต่อสื่อสารเพื่อ                การช่วยเหลือ
  • สื่อการเรียนการสอน
  • การจัดการความรู้ด้านการป้องกันอุบัติเหตุจราจร
  • อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจร
  • ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ต้นแบบ ที่ควรมีในศูนย์อุบัติเหตุ
  • ต้นแบบรถพยาบาล   และระบบสื่อสาร
  • ศูนย์ฝึกอบรมการช่วยชีวิต
  • ส่งผู้รับผิดชอบไปฝึกอบรมด้านภาวะฉุกเฉินในประเทศญี่ปุ่น พัฒนาระบบสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
  • พัฒนาศูนย์สื่อสารและสั่งการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
  • เสนอรูปแบบแนวนโยบายภาครัฐ ด้านการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ในการป้องกันอุบัติเหตุจราจร
  • จัดทำเอกสารการเรียนรู้  คู่มือการปฏิบัติงาน  คู่มือการวิเคราะห์ความเสี่ยง จุลสาร  สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อประชาสัมพันธ์  สื่อโสตเพื่อการเผยแพร่ ในทางช่องทางสื่อสารสาธารณะ

งบประมาณที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนโครงการ “The Project for Development of Trauma Center Complex”  มากกว่า  ๘๐  ล้านบาท  หลังเสร็จสิ้นโครงการรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจเยี่ยม  ให้คำแนะนำ ร่วมทำงานวิจัย และขอเชิญให้  นพ.วิทยา  ไปเป็นวิทยากรเพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาศูนย์อุบัติเหตุในประเทศต่าง ๆ


๒๕๔๔

อาคาร “อุบัติเหตุ” ที่รัฐบาลสนับสนุน งบประมาณมีเฉพาะเพียงค่าก่อสร้างอาคาร  ขาดงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์  ได้ขอเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองโรงพยาบาลภูมิภาค  จำนวน ๒๐ ล้านบาท  เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ที่จำเป็น  และของบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อซื้อครุภัณฑ์เป็นเงิน    ล้านบาท  และได้รับงบประมาณตามที่ร้องขอไป    และในปีเดียวกัน  ได้จัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๒  “การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ ในสหัสวรรษใหม่”         มีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมาก


๒๕๔๕

การขอเป็นศูนย์ฝึกอบรมขององค์การอนามัยโลก “WHO Collaborating Center in Pre Hospital Care and Injury Surveillance”และมีการจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๓ “การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ตามนโยบายรัฐบาล” ซึ่งเป็นการจัดสัมมนาต่อเนื่องทุกปี


๒๕๔๖

องค์การอนามัยโลก ได้อนุมัติให้โรงพยาบาลขอนแก่น เป็นศูนย์ประสานงานความร่วมมือทางวิชาการด้าน “Injury Prevention and Safety Promotion” เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี      นพ.วิทยา  ชาติบัญชาชัย เป็นผู้รับผิดชอบ (ผู้อำนวยการศูนย์ฯ)  และกำหนดให้จัดการอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศสมาชิก SEARO ในด้าน Injury Prevention  และ Safety Promotion แต่ละครั้งของการอบรมจะมีบุคลากรทางการแพทย์ประเทศละ    คน  โดยกำหนดให้จัดอบรม  ปีละ ๑  ครั้ง จนถึงปัจจุบัน และมีการจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๔ “การป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ”

เดือนธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๔๖ เปิดอาคารศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด


๒๕๔๗

ศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น มีแผนพัฒนางานให้มีความก้าวหน้าและขยายให้ครอบคลุม และยังคงเป็นแกนหลักในการจัดจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๕             “การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ”


๒๕๔๘

          รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้าน “Prevention and Safety Promotion” ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศกลุ่มที่ ๓ ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   ประเทศกัมพูชา ประเทศเมียนม่าร์ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศบูรไน ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย   

มีการจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๖ “การป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จราจร” แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจราจร โดยการที่จะทำให้จำนวนอุบัติเหตุลดลงได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายองค์กรมาดำเนินงาน โดยต้องมีการระดมผู้มีความรู้ ความสามารถ ใน    ด้าน ประกอบด้วย

  • Education
  • Enforcement
  • Engineering
  • EMS
  • Empowerment
  • Evaluation

จึงเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  เพื่อให้เกิด “โครงการ สนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดนำร่อง”ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “สอจร.”ในปี ๒๕๔๘  สสส. ได้ประเมินหลักการ แผนการปฏิบัติงาน แนวทางปฏิบัติ  การมีส่วนร่วมขององค์กรและภาคประชาชน รูปแบบการติดตามและประเมินผล ผู้รับผิดชอบหลัก ผลสำเร็จที่ประชาชนจะได้รับ แรงผลักดันให้เกิดแนวนโยบายภาครัฐ


๒๕๔๙

          การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุระดับเขตตรวจราชการที่  ๑๐  และ ๑๒ การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจราจร   ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจราจรที่เดินทางมาขอรับการรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่น ไม่ได้มีเฉพาะในเขตจังหวัดขอนแก่นเท่านั้น  ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เดินทางข้ามจังหวัด  ข้ามเขตตรวจราชการมาขอรับการรักษา สาเหตุเนื่องจากผู้ป่วยเห็นว่าจังหวัดขอนแก่นมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงจำนวน    แห่ง  คือ  โรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลศรีนครินทร์  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

โรงพยาบาลขอนแก่น ไม่เคยปฏิเสธการรับผู้ป่วยไว้รักษา จำนวนการครองเตียงจึงมากกว่า ๑๐๐ % อยู่เสมอ จากปัญหาดังกล่าวจึงหาทางแก้ไขด้วยการเสนอผู้ตรวจราชการเขต ๑๐ และ ๑๒ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน เขต ๑๐ และ ๑๒ โดยมีผู้ตรวจราชการเป็นประธาน ตามคำสั่งสำนักงานสาธารณสุข ที่ ๕ / ๒๕๔๙ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ – ฉุกเฉิน กลุ่มสาธารณสุขที่ ๖ (เขตตรวจราชการที่ ๑๐ และ ๑๒) กระทรวงสาธารณสุข โดยมีหน้าที่

  1. กำหนดนโยบายการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน – อุบัติเหตุ   ในเขต  ๑๐ และ ๑๒
  2. มอบนโยบายและกำหนดผู้รับผิดชอบ ในแต่ละด้าน
  3. กำกับติดตามความก้าวหน้าของงานที่ได้สั่งการ / มอบหมายไว้
  4. กำหนดแนวทางการสั่งการในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ของผู้ป่วยอุบัติเหตุ และแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ – ฉุกเฉิน เขต ๑๐ และ ๑๒    ซึ่งกรรมการชุดนี้ได้มีการประชุมต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางพัฒนาระบบงานร่วมกันทุก    เดือน มาจนถึงปัจจุบัน

และในปีนี้ มีการจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๗ “ชุมชนถนนปลอดภัย : มอร์เตอร์ไซด์ ปลอดอุบัติเหตุ”


๒๕๕๐

เห็นว่าการดูแลผู้ป่วยที่บาดเจ็บ ในประเทศไทย มีความแตกต่างกันอย่างมาก จึงไม่สามารถกำหนดแหล่งอ้างอิงใดให้เป็นมาตรฐาน  จึงได้เสนอในที่ประชุมอนุกรรมการขององค์การอนามัยโลก  World Health Assembly Resolution  ให้พิจารณา / จัดทำมาตรฐาน ในเรื่อง  Trauma Care

            ในปีนี้ มีการจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๘  “ท้องถิ่น – ชุมชน –ถนนปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ”   


๒๕๕๑

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ได้รับมอบหมายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เป็นหัวหน้าคณะไปศึกษาดูงาน เรื่อง การจัดการสถานการณ์สาธารณภัย  ที่ประเทศสวีเดน  ได้จัดทำเอกสาร เรื่อง “การบริหารจัดการทางการแพทย์ในสถานการณ์สาธารณภัย (Major Incident Medical Management and Support)” และได้การสนับสนุนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นวิทยากรเดินทางไปอบรม ครู ก.  ในหลักสูตร “การบริหารจัดการทางการแพทย์ในสถานการณ์สาธารณภัย (Major Incident Medical Management and Support)”  ทั่วประเทศ      


๒๕๕๒

นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินงานของ  GRSP collaboration program  on Community Youth Helmet Use Project   รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายอุบัติเหตุ ของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย  และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาการพัฒนาระบบการให้บริการห้องฉุกเฉิน ของกระทรวงสาธารณสุข ประจำประเทศบังคลาเทศ

          และมีการจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๙  “พลังเครือข่าย เพื่อถนนปลอดภัย: Partnership for Road Safety”   

          สำหรับในช่วงปลายปี  ได้เริ่มโครงการ Motorway  ของเขตตรวจราชการ  ๑๐


๒๕๕๓

นพ.วิทยา  ชาติบัญชาชัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมจัดทำ Resolution on injury prevention and safety promotion  และนำเสนอในที่ประชุมครั้งที่  ๖๓  ของ WHO SEARO  regional committee 

          องค์การอนามัยโลกได้แต่งตั้งให้  นพ.วิทยา  ชาติบัญชาชัย เป็นผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกในด้าน  Trauma quality improvement program   (TQI program) ซึ่ง นพ.วิทยา  มีแผนที่จะจัดอบรม TQI  Program ให้กับหัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมทั่วประเทศในปี  พ.ศ. ๒๕๕๕   รวมทั้งร่วมผลักดันในเรื่อง   WHO  global alliance on trauma care

          ตัวแทนของประเทศไทยในการประชุม “WHO Violence and Injury Prevention  focal point meeting ครั้งที่ ๓ ”  รวมทั้งได้รับมอบหมายให้นำเสนอรูปแบบของ Trauma  System  ของประเทศไทย และร่วมจัดทำ  WHO SEARO recommendation on child traffic injury prevention 


๒๕๕๔ – ๒๕๕๕

          จัดทำโครงการวิจัยของ   WHO trauma  care check list project  ในส่วนของประเทศไทย

ด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการรักษาพยาบาลของผู้ประสบอุบัติเหตุจราจร                นพ.วิทยา ได้ผลักดันให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และบริษัทกลางผู้ประสบภัยจากรถ เชื่อมต่อฐานข้อมูล  ITEM ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกับฐานข้อมูล E –Claim ของบริษัทกลางผู้ประสบภัยจากรถ

          ในปีนี้ มีการจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ ๑๐  “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ: Time for Action”

เป็นแกนนำในการรณรงค์ในจังหวัด การสวมหมวกนิรภัยในการขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่มากที่สุด และการลงนามในการป้องกันอุบัติเหตุที่ยาวที่สุดในประเทศไทยในปี ๒๕๕๔ และ๒๕๕๕ ตามลำดับ โดยการรับรองจากพิพิธภัณฑ์ริลีส์ พัทยา

ภารกิจศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด

  1. เป็นหน่วยงานพิเศษในกำกับของกลุ่มภารกิจด้านบริการตติยภูมิ
  2. ประสานงานเพื่อบริการด้านการแพทย์เกี่ยวกับงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
  3. ฝึกอบรมบุคลากรการศึกษาวิจัยและร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ
  4. เป็นศูนย์ข้อมูลการบาดเจ็บ
  5. การประสานงานการป้องกันการบาดเจ็บ
  6. ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน