ผลลัพธ์ของโครงการรับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ โมเดลจังหวัดขอนแก่น ปี 2562-2563

 

ผลลัพธ์ของโครงการรับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ โมเดลจังหวัดขอนแก่น ปี 2562-2563

ภญ.กิตติยา ปิยะศิลป์, ภญ.นิสรา ศรีสุระ, ภญ.ดารณี อนุสรณ์ธีระกุล, รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม

กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น

โรงพยาบาลขอนแก่น  มีผู้ป่วยที่มารับยาที่ห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 2,000 ราย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจได้รับยามากถึง 10-15 รายการต่อใบสั่งยา ส่งผลให้ผู้ป่วยรอรับยามากกว่า 1.5 ชั่วโมง การพัฒนาระบบรับยาร้านยาใกล้บ้าน ซึ่งหวังว่าจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยจะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแบบไม่ต้องรอรับยาที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลน้อยลง ลดภาระการเดินทาง และความแออัดของโรงพยาบาล รวมถึงจะได้รับคำแนะนำการใช้ยาอย่างตามใบสั่งแพทย์จากเภสัชกร อย่างไรก็ตาม สำหรับเงื่อนไขการรับยาต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วยที่จะรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน ซึ่งเป็นร้านยาคุณภาพหรือร้านยาที่ผ่านมาตรฐาน GPP และมีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง โดยจะได้รับยาชนิดเดียวกับที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดิมที่รับยาอยู่ และผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลและร้านขายยาที่เป็นเครือข่ายสามารถดำเนินการได้ 3 รูปแบบคือ โรงพยาบาลจัดยารายบุคคลส่งให้ร้านขายยา โรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา หรือร้านยาดำเนินการจัดการด้านยาเอง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาร่วมกันต่อไป ภายหลังจากที่โครงการดำเนินการแล้ว

ซึ่งโรงพยาบาลขอนแก่นพัฒนาโครงการนี้เป็น Action research โดยใช้แนวคิด Plan-Do-Check-Act: PDSA วิธีดำเนินการ 4 ระยะ 1.ก่อนการพัฒนา โดยการประชุมคณะทำงานกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ในโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หลอดลมอุดกลั้นเรื้อรังและต้องเป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) 2.การออกแบบระบบขั้นตอนการทำงานตามวงรอบ PDSA 2 วงรอบ 3.สรุปผลการพัฒนา  จากการดำเนินการ เดือน ตุลาคม 2562 มีร้านยาเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 50 ร้าน การดำเนินงานกำหนดรูปแบบที่ 1 คือห้องยาผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลขอนแก่น จัดเตรียมยาและส่งยาไปให้ร้านยา พบว่ามีจำนวนผู้ป่วย 23 ราย จากนั้นคณะทำงานทบทวน PDSA วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย พบว่าโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการคงที่อยู่ที่ศูนย์แพทย์เครือข่ายของโรงพยาบาลขอนแก่น ทำให้เปิดการขยายบริการไปยังศูนย์แพทย์ฯ 1 แห่ง เริ่มดำเนินการเดือน พฤศจิกายน 2562 พบว่าผู้รับบริการเพิ่มขึ้นเป็น 84 ราย และเดือน ธันวาคม 2562 ลดลงเหลือ 36 ราย จากนั้นคณะทำงานทบทวน PDSA วิเคราะห์หารูปแบบเพิ่มเติมจึงขยายรูปแบบการเติมยา รูปแบบที่ 2 คือผู้ป่วยรับยาครั้งแรกที่ศูนย์แพทย์ฯ ครั้งต่อไปรับที่ร้านยา ทำให้เดือน มกราคม 2563 ผู้รับบริการเพิ่มขึ้นเป็น 84 ราย และมีผู้ป่วยลงทะเบียนเพื่อรับยาครั้งถัดไปที่ร้านยาสะสม  200 รายในศูนย์แพทย์ฯทุกแห่ง ระยะเวลารอคอยเฉลี่ยก่อนพัฒนาระบบ 34 นาที เหลือ 29 นาที การพัฒนาและออกแบบระบบงานต้องมีการทบทวนโดยใช้วงล้อ PDSA ทำให้เกิดการพัฒนาระบบงานอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินโครงการระหว่าง 1 ต.ค.2562-ก.ย. 2563 มีจำนวนผู้ป่วยที่ไปรับยาร้านยาใกล้บ้าน 503 ราย จากผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 3,450 ราย คิดเป็น ร้อยละ 14.57 ส่งร้านยา 35 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 70 ผู้รับบริการ 503 คน สัมภาษณ์ได้ทั้งสิ้น 146 คน สัมภาษณ์เภสัชกรร้านยา 25 คน และเภสัชกรโรงพยาบาล 8 คน สำหรับผลการประเมินความพึงพอใจของทั้งเภสัชกรและผู้รับบริการหรือผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ พบว่ามีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดในทุกด้าน และเภสัชกรสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วย ผู้รับบริการได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคและยาที่ตนเองได้รับ สามารถนำความรู้ที่ได้จากเภสัชกรร้านยามาปรับใช้ในการดูแลตนเอง และลดระยะเวลาในการรอรับบริการจากห้องยาหลังพบแพทย์ได้มากกว่าที่โรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ถูกต้อง ลดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา 

มีการพัฒนาโมเดลการให้บริการของร้านยาคุณภาพและร้านยา GPP ที่เป็นหน่วยร่วมบริการโดยใช้รูปแบบการจ่ายยาในโมเดล 1 และโมเดล 2 ดังแผนภูมิที่ 1-3 สิ่งที่ได้พัฒนาในงานวิจัยนี้คือ การให้บริการของร้านยาที่เพิ่มเติมคือการจัดการการใช้ยา (Medication therapy management; MTM) รวมถึงการจัดการยาเหลือใช้ และการสร้างเสริมสุขภาพแก่ผู้ป่วยที่มารับบริการในโครงการรับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ  โมเดลรับยาใกล้บ้าน-เภสัชกรใกล้ใจที่พัฒนาขึ้น ดังรูปที่ 1 ซึ่งบทบาทของเภสัชกรร้านยาในโครงการนี้ควรมีดังนี้คือ ตรวจสอบยาและส่งมอบตามมาตรฐานวิชาชีพ จัดการยาเหลือใช้และสร้างเสริมสุขภาพรวมถึงการเลิกบุหรี่ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับก็คือผู้ป่วยได้รับยาถูกต้อง รวดเร็ว เพิ่มความร่วมมือในการใช้ยา ลดปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ ประชาชนได้รับการสร้างเสริมสุขภาพและบริการเลิกบุหรี่ 

สำหรับปัญหาที่พบจากมุมมองผู้ให้บริการที่สำคัญคือ การประชาสัมพันธ์ยังอาจไม่ทั่วถึง มีข้อจำกัดของสิทธิการรักษาที่สามารถเข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้าน โรคยังไม่ครอบคลุม ความเชื่อมั่นของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในการส่งผู้ป่วยมารับยาที่ร้านยา ระบบสารสนเทศยังไม่สามารถเชื่อมโยงในทุกส่วนได้ สำหรับข้อเสนอแนะจากผู้ให้บริการคือ ควรให้ผู้ป่วยมารับยาเองเพื่อเภสัชกรจะได้ให้การบริบาลทางเภสัชกรรมได้ดีขึ้น ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถมาได้จริงๆขอให้เป็นผู้ดูแลมาแทน ควรมีเครื่องมือสนับสนุนเช่น เครื่องและแผ่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด peak flow meter ควรมีระบบเตือนแจ้งนัดรับยาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาล 

ข้อเสนอแนะจากผู้รับบริการส่วนใหญ่คิดเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมากๆ ควรดำเนินการต่อเพราะสามารถลดระยะเวลาในการรอรับยาที่โรงพยาบาลได้มาก สะดวกสบายเพราะร้านยาอยู่ใกล้บ้าน สะดวกดีกว่าโรงพยาบาล เภสัชกรร้านยาบริการและติดตามดีมาก เภสัชกรพูดจาดี เข้าใจง่าย ได้สอบถามปัญหาการใช้ยา ได้ใกล้ชิดเภสัชกร เภสัชกรแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวดีมาก ได้ความรู้มากขึ้น อยากให้ร้านยามีเจาะติดตามวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้สม่ำเสมอและอยากให้มีการรับยามากกว่าโรคเรื้อรัง จะได้สะดวก มากขึ้น

คำสำคัญ ลดแออัด รับยาร้านยา

 

แผนภูมิที่ 1 ขั้นตอนการให้บริการ Model 1 and Fill prescription

แผนภูมิที่ 2 ขั้นตอนการให้บริการ Model 2 and Refill prescription

แผนภูมิที่ 3 ขั้นตอนการให้บริการ Model 2 and Fill prescription 

 

 

รูปที่ 1 โมเดลรับยาใกล้บ้าน-เภสัชกรใกล้ใจ