พยาบาลศูนย์พึ่งได้ รพ.ขอนแก่น เปิดเผยการดูแลผู้ป่วยทุกด้านทั้งร่างกายและจิตใจ

การลงพื้นที่ติดตามปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ที่จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นปัญหาสำคัญเพราะคนกลุ่มนี้ต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวและแม้บาดแผลทางร่างกายจะหาย แต่บาดแผลทางจิตใจก็ยากจะเยียวยาฟื้นฟูให้กลับคืนมาเช่นเดิม แนวทางการแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการป้องกัน  เข้ามาช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบปัญหาและผู้ได้รับผลกระทบต่อปัญหาความรุนแรง  ให้สามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤติทางด้านจิตใจ และกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว

 

สำหรับสถิติของศูนย์พึ่งได้ จังหวัดขอนแก่น ในปี 2549 มีจำนวน   651 ราย ปี 2559 มีเป็นจำนวน 1,397ราย โดยสถานที่เกิดเหตุบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายสูงสุดคือบริเวณบ้าน โดยภาคอีสาน มีจำนวนผู้บาดเจ็บจากการถูกทำร้ายสูงสุด รองลงมาคือภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังพบว่า ความรุนแรงส่วนใหญ่ สาเหตุมาจากบุคคลในครอบครัว และสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ร้อยละ 95 อยู่ในวัยแรงงานและวัยเจริญพันธุ์  ส่งผลให้ผู้หญิงต้องขาดงาน กระทบต่ออาชีพและรายได้   เมื่อมีการบาดเจ็บหรือพิการ  ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้า หรือแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

 

โรงพยาบาลขอนแก่น  ถือเป็นผู้ริเริ่มโดยทีมแพทย์ พยาบาลและนักสังคมสงเคราะห์  จัดศูนย์บริการเพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยการสร้างเครือข่ายสหวิชาชีพ ภายใต้ชื่อศูนย์พึ่งได้ (One-Stop Service Crisis Center : OSCC) เป็นหน่วยบริการแบบ Private Unit หน้าที่หลักคือ    1 )การป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง โดยเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาลประจำตำบลและอาสาสมัคร 2) พัฒนาศักยภาพและระบบบริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง และการตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้มีคุณภาพและครอบคลุมทั้ง 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ 3) ฟื้นฟู และเยียวยาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง มีการประสานงานทรัพยากร  เครือข่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคีเครือข่ายหลัก และท้ายสุดมีการทำกิจกรรมร่วม กิจกรรมบริการรายบุคคล กิจกรรมการประชุมกลุ่ม  กิจกรรมระดับชุมชน ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด

 

นางสุทธาทิพย์ รัตนพงษ์เพียร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์ OSCC โรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า ปกติผู้ป่วยจะเข้ามารับการรักษาที่งานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน หรือจุดคัดกรองผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งจะแบ่งลำดับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่รับเข้ามาขั้นแรกถือเป็นภาวะวิกฤต เช่น ศีรษะแตก กระดูกหัก โดยพยาบาลจะทราบข้อมูลจากการซักถามผู้ป่วยโดยพยาบาลวิชาชีพ ก่อนส่งตัวเข้ารับการรักษา หากเกิดจากความรุนแรงในครอบครัว

 

หลังรักษาแล้วเสร็จจะส่งตัวผู้ป่วยไปยังศูนย์พึ่งได้ เพื่อประเมินผลว่ามีโอกาสจะถูกกระทำซ้ำหรือไม่ หรืออาจเสี่ยงโดนมาทำร้ายที่โรงพยาบาล ก็จะมีการปิดบังข้อมูลคนไข้ หรือส่งตัวไปที่ศูนย์พักชั่วคราวที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการถูกทำร้ายซ้ำ นอกจากนี้ยังต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อการช่วยเหลือในรอบด้าน รวมทั้งการเยียวยาหลังจากนั้นทั้งอาชีพ และความเป็นอยู่ประจำวัน ส่วนเคสรุนแรงที่สุดที่เคยเข้ามารักษาคือ สามี ภรรยา ทะเลาะกันแล้วจุดไฟเผา ต้องรักษาตัวอย่างเร่งด่วน ก่อนรักษาเยี่ยวยาสภาพจิตใจ หลังจากนั้น ที่ผ่านมาปัญหาที่พบ คือการประสานความช่วยเหลือหลังการรักษา เช่น การทำร้ายร่างกายกัน ระหว่างสามี ภรรยา ก็มักจะกลับไปอาศัยด้วยกันเช่นเดิม หลายกรณีก็เกิดเหตุการณ์ทำร้ายกันมากกว่า10ครั้ง ทางศูนย์จะทำได้เพียงให้คำแนะนำทางเลือกต่างๆ ที่เหลือจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วย

น.ส.นอม (สงวนชื่อ-นามสกุล) อายุ 53 ปี หนึ่งในผู้เข้ารับการรักษาที่ OSCC รพ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ตนกับสามีคบกันมาตั้งแต่ปี 2545 เริ่มมีปัญหามาจากความหึงหวง ทะเลาะกัน มีปากเสียงธรรมดาทั่วไป ก่อนที่ผู้ชายเริ่มมีผู้หญิงคนอื่น และติดการพนัน ความรุนแรงก็เริ่มเป็นทำร้ายร่างกายกัน โดนทำร้ายศีรษะกระแทกมุมโต๊ะจนคิ้วแตก บีบคอ หรือแม้กระทั่วใช้ด้ามมีดทุบตี ที่ผ่านมาพยายามหนีไปอยู่ตามบ้านญาติ แต่ก็ถูกตามตัวกลับมา ทั้งแจ้งความ หาทนายความช่วยเหลือ มาตลอดเวลานานกว่า 15ปี จนกระทั่งปี 2560 ได้เข้ามาที่ศูนย์พึ่งได้ รพ.ขอนแก่น ก็ได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านกฎหมายเข้ามาคุ้มครอง ทำให้ตลอด 1ปีที่ผ่านมา ชีวิตก็ดีขึ้น ต่างคนต่างอยู่กับอดีตสามี ตนเองก็ตั้งใจทำงานเลี้ยงชีพต่อไป แต่ยังก็มีอาการระแวงอยู่บ้าง หากต้องเจอกัน

 

จังหวัดขอนแก่นได้จัดงาน “เดิน-วิ่ง เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่2 (WALK & RUN FOR STOP VILOENCE KHONKAEN THAILAND  VOL.2 ) ปี2561 “ในวันอาทิตย์ที่ 25พฤศจิกายน 2561 เวลา 04.30-09.30 น. ณ สวนสาธารณะบึงทุ่งสร้าง เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ติดตามเพิ่มเติมที่ www.FanaticRun.com

 

ที่มา : http://www.js100.com/en/site/news/view/63287