โรงพยาบาลขอนแก่น ใช้ร่างอาจารย์ใหญ่เป็นผู้ป่วยจำลอง สอนการผ่าตัดข้อเข่าเทียม

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลขอนแก่น ได้จัดประชุมวิชาการ “Interprofessional operative TKA simulation in medical education” การจัดการศึกษาแบบ สหสาขาวิชาชีพในการสาธิตการผ่าตัดข้อเข่าเทียมในแพทยศาสตร์ศึกษา โดยมี นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นประธาน ณ ห้อง Skill lab ศูนย์ฝึกทักษะ Simulator (KKSIMTEC) ชั้น 3 อาคารคุณากรปิยชาติ โรงพยาบาลขอนแก่น

นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า การจัดประชุมดังกล่าวมีการเชิญร่างอาจารย์ใหญ่จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาเป็นผู้ป่วยจำลองในการผ่าตัด ข้อเข่าเทียม เพื่อเอื้อประโยชน์ในการเรียนการสอน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการผ่าตัดข้อเข่าเทียม ระหว่างแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ แพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ พยาบาล และบุคลากรห้องผ่าตัด อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ เพื่อลดข้อผิดพลาดในการผ่าตัดผู้ป่วยจริงซึ่งสอดคล้องตามหลักการ Patient Safety

ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าว ได้จัดให้มีพิธีกล่าวขอขมา พิธีมอบดอกไม้และพวงมาลัย เพื่อทำความเคารพร่างอาจารย์ใหญ่ ก่อนจะเริ่มทำการสาธิตการผ่าตัดข้อเข่าเทียม นับเป็นครั้งแรกของโรงพยาบาลขอนแก่น และเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการจัดการเรียนการสอนการผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยใช้ร่างอาจารย์ใหญ่เป็นผู้ป่วยจำลอง โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ปิยกุลมาลา และอาจารย์นายแพทย์กฤษ สาลัง ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลขอนแก่น เป็นวิทยากร ซึ่งได้รับความสนใจจากแพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ อาจารย์แพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ พยาบาลห้องผ่าตัด และผู้ช่วยพยาบาลห้องผ่าตัด ในการเข้าร่วมชมการสาธิตการผ่าตัดข้อเข่าเทียม กว่า 40 คน นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดสดการเตรียมผู้ป่วย การเตรียมเครื่องมือผ่าตัด และขั้นตอนการผ่าตัดต่าง ๆ จากห้อง Skill lab ไปยังห้องประชุมด้านนอกของศูนย์ฝึกทักษะ Simulation Center (KKSIMTEC) ซึ่งกิจกรรมประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

ทั้งนี้ การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์เอื้อประโยชน์ให้แพทย์ได้เรียนรู้โครงสร้างร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์อย่างแท้จริง ส่งผลให้การแพทย์ไทยพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะนอกจากเป็นการเรียนรู้พื้นฐานทางกายวิภาคศาสตร์ของแพทย์แล้ว ผู้อุทิศร่างกายยังเป็นครูผู้ให้การฝึกอบรมทักษะการช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือการผ่าตัดขั้นสูงอีกด้วย