ตุลาคม…เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม

ตุลาคม…เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม
               เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนที่ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาหายสูงโดยเฉพาะเมื่อตรวจเจอได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น หากทุกคนใส่ใจกับตนเองและทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอก็จะลดโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้
               นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของหญิงไทย ซึ่งสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2559-2561 มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านม อยู่ที่ 34.2 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือ 17,043 รายต่อปี และคาดการณ์ว่าน่าจะมีจำนวนเพิ่มมากกว่า 22,000 ราย ในปีต่อไป มะเร็งเต้านมจึงเป็นโรคที่เราควรให้ความใส่ใจเพื่อลดโอกาสที่จะเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้มะเร็งเต้านมเกิดในเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ เพศชายมีโอกาสพบเจอเพียงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้หญิงเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็ง เต้านมได้แก่ อายุที่เพิ่มมากขึ้น การมีประจำเดือนมาเร็วก่อนอายุ 12 ปี และประจำเดือนหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี การไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือมีเนื้องอกในเต้านมบางชนิด ผู้ที่เคยได้รับการฉายแสงหรือรังสีรักษาที่หน้าอกก่อนอายุ 30 ปี ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ และผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนบางชนิด เช่น BRCA1, BRCA2 ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่เราสามารถแก้ไขและหลีกเลี่ยงได้เพื่อลดโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านม เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ การควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนโดยไม่จำเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ลดการบริโภคแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
              แพทย์หญิงวิภาวี สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลศาสตร์เต้านม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการหรือสัญญาณเตือนของมะเร็งเต้านมที่ผู้หญิงทุกคนสามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง ได้แก่ การมีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรอยบุ๋ม ผิวหนังบวม แดงขึ้น หัวนมบุ๋มหรือถูกดึงรั้ง มีผื่นหรือแผลที่เต้านมและหัวนม มีน้ำหรือเลือดไหลออกจากหัวนม หากพบอาการเหล่านี้ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม การสังเกตความผิดปกติของเต้านมควรทำทุกเดือนเดือนละครั้ง และยังสามารถมารับการตรวจเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ได้ปีละหนึ่งครั้ง นอกจากนี้แล้ว มะเร็งเต้านม ยังมีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพและมีผลการศึกษาแล้วว่าสามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมได้จริงคือการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมโดยแนะนำให้ทำในผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมนี้ทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่แสดงอาการได้ทำให้การรักษาได้ผลดีผู้ป่วยอาจจะไม่ต้องสูญเสียเต้านมมีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อย
               การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันนี้ มักจะประกอบด้วยการรักษาหลายอย่าง ทั้งการผ่าตัด การให้ยา และการฉายแสงหรือรังสีรักษา ซึ่งทีมแพทย์ที่ทำการรักษา ทั้งแพทย์ผ่าตัดหรือศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ มะเร็งวิทยา และแพทย์รังสีรักษา จะพิจารณาเลือกวิธีและขั้นตอนในการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด โดยพิจารณาจากปัจจัยหลาย ๆอย่าง เช่น ชนิดและระยะของมะเร็ง ตัวผู้ป่วย ซึ่งความก้าวหน้าของการรักษาในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยมีหนทางการรักษาที่ให้ผลดี ทั้งทางด้านการหายจากโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในทุกระยะของโรค การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมทุกวันนี้ ผู้ป่วยมีทางเลือกในการเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ โดยไม่ต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งหมดอย่างในอดีต หรือมีทางเลือกในการเสริมสร้างเต้านมใหม่ขึ้นมาได้ ด้วยถุงเต้านมเทียม หรือการใช้เนื้อเยื่อตนเองมาเสริมสร้างเป็นเต้านมใหม่ ทดแทนเต้านมที่ถูกตัดทิ้ง ทั้งยังมีการนำเทคนิคการศัลยกรรมตกแต่งมาใช้ เพื่อให้ผลลัพธ์ในการผ่าตัดมะเร็งเต้านมดีขึ้น อันจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ให้ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ การรักษาด้วยยา ก็มีทั้งการให้ยาต้านฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด ยารักษาแบบมุ่งเป้า ซึ่งจะพิจารณาเลือกให้เหมาะแก่ผู้ป่วยแต่ละราย ทุกวันนี้ ยังมีการพัฒนายาใหม่ๆ มาเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกชนิด และทุกระยะของโรค ยาใหม่ๆที่กำลังพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการรักษามะเร็ง เช่น ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ที่จะออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง นอกจากการพัฒนาของยาแล้ว การตรวจชนิดของเซลล์มะเร็งก็มีการพัฒนาการตรวจให้มีความละเอียดและแม่นยำเพื่อที่แพทย์จะสามารถเลือกชนิดของยาให้เหมาะสมกับชนิดของเซลล์มะเร็งให้มากที่สุด สำหรับการฉายแสงรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งถูกนำมาใช้ในการรักษาทั้งมะเร็งระยะเริ่มต้น และระยะลุกลาม ก็มีเครื่องฉายแสงที่ให้ความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ฉายแสงได้ตรงจุด ลดผลแทรกซ้อนต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ปอด หัวใจ และยังมีเครื่องฉายแสงในห้องผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสงวนเต้านม ซึ่งปกติต้องมาฉายแสงหลังผ่าตัดหลายครั้ง เหลือการฉายแสงเพียงครั้งเดียวพร้อมกับการผ่าตัดเต้านม ทั้งยังฉายได้แม่นยำ ตรงจุด ไม่โดนอวัยวะอื่น ๆ อีกด้วย
—————————————–
ที่มา : กรมการแพทย์
10 ตุลาคม 2565